แบ่งปันระบบคัดกรอง COVID-19 สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ ให้กับโรงพยาบาลได้ใช้งานฟรี

Puwadon Sricharoen
3 min readMay 25, 2020

--

การติดเชื้อ COVID-19 ในโรงพยาบาล

จากการศึกษาพบว่าบุคลากรทางการแพทย์ที่ติดเชื้อฯ ไม่ทราบมาก่อนว่าผู้ป่วยมีอาการผิดปกติคล้ายกับผู้ที่ติดเชื้อ COVID-19 หรือผู้ป่วยไม่ยอมบอกประวัติเป็นเรื่องที่สามารถเจอได้ หากมีบุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อก็จะต้องถูกกักตัวเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้สถานพยาบาลต้องปิดให้บริการบางส่วน เช่น รพ.รือเสาะ จ.นราธิวาส

บุคลากรทางการแพทย์มีความเสี่ยง 2 ส่วนคือ เสี่ยงจากการใช้ชีวิตประจำวันเหมือนประชาชนทั่วไป และการปฏิบัติหน้าที่ในภารกิจที่ได้รับมอบหมาย

ข้อมูลช่วงระหว่างวันที่ 31 มี.ค. — 14 เม.ย. 2563

จากข้อมูลบุคลากรทางการแพทย์ที่ติดเชื้อ COVID-19 ที่มีการติดเชื้อในโรงพยาบาลพบว่าประมาณ 74% เป็นลักษณะเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานให้การดูแลรักษาผู้ป่วย ส่วนอีก 16% ติดจากเพื่อนร่วมงาน เช่น การใช้ชีวิตประจำวันใกล้ชิดกัน การรับประทานอาหาร หรือพูดคุยกันโดยไม่ได้ใส่หน้ากากอนามัย ในขณะที่การซักประวัติและคัดกรองผู้ป่วยมีประมาณ 2% แต่ก็มีบุคลากรทางการแพทย์ประมาณ 8% ที่ไม่สามารถระบุที่มาของการติดเชื้อได้ชัดเจน

บุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อ COVID-19 จากเพื่อนร่วมงานถึง 16% จากบุคลากรที่ติดเชื้อฯ ทั้งหมด

อยากให้ลองจินตนาการว่าหากโรงพยาบาลต้องคัดกรองบุคลากรทางการแพทย์ทุกคนก่อนเข้าปฏิบัติงานและก่อนกลับบ้าน (ประมาณ 600 ต่อวัน) คงจะต้องใช้เจ้าหน้าที่จำนวนมาก รวมถึงความเสี่ยงในการแพร่ระบาดที่เพิ่มขึ้นตามไปด้วย

ผมจึงมีโอกาสได้พัฒนาระบบคัดกรอง COVID-19 รวมกับคุณหมอ ชานนท์ นันทวงค์ จากโรงพยาบาลสระบุรี โดยออกแบบให้ทำงานร่วมกับ LINE Official Account ของโรงพยาบาล ซึ่งบุคลากรมีความคุ้นเคยกับอยู่แล้ว ช่วยให้การเข้าถึงแบบคัดกรองสะดวกมากขึ้น โดยให้บุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาลทุกคน ทำแบบคัดกรองนี้ก่อนมาทำงานและก่อนกลับบ้านเป็นประจำ (วันละ 2 ครั้ง) ซึ่งระบบจะส่งต่อข้อมูลไปยังทีมคัดกรอง COVID-19 ของโรงพยาบาลอีกครั้ง หากมีความผิดปกติใดๆ ทีมคัดกรองก็จะได้ติดตามต่อไปทันที

วิธีเปิดแบบคัดกรอง COVID-19 ผ่าน LINE Official Account ของโรงพยาบาลสระบุรี

ถือเป็นโอกาสที่ดีสำหรับโรงพยาบาลที่จะสร้างช่องทางสื่อสารกับบุคลากรทางการแพทย์ทั้งหมด ซึ่งหลังจากจบวิกฤต COVID-19 นี้แล้วก็ยังสามารถใช้สื่อสารกันในเรื่องอื่นได้เช่นกัน

เบื้องต้นระบบคัดกรอง COVID-19 นี้ถูกใช้งานในโรงพยาบาลสระบุรี และโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จังหวัดปราจีนบุรี ตั้งแต่ช่วงต้นเดือนเมษายน 2563 โดยทั้ง 2 โรงพยาบาล ได้จัดตั้งทีมคัดกรอง COVID-19 ขึ้นมาภายในเพื่อคัดกรองและเฝ้าระวังบุคลากรทางการแพทย์โดยเฉพาะ

แบบคัดกรอง COVID-19

ระบบคัดกรอง COVID-19 แบ่งออกเป็น 2 ส่วนสำคัญ คือ ส่วนของคำถามคัดกรองที่จะเป็นชุดคำถามที่บุคลากรทางการแพทย์ต้องเข้ามาตอบเป็นประจำทุกวันก่อนเข้าปฏิบัติงานและก่อนกลับบ้าน ส่วนทีมคัดกรองของโรงพยาบาลจะมีหน้า Dashboard ที่สามารถเห็นผลการตอบแบบคัดกรองทั้งหมดของบุคลากรทางการแพทย์ทุกคนได้

คำถามคัดกรอง

ในแบบคัดกรองมีคำถามทั้งหมด 10 ข้อ ที่เกี่ยวความเสี่ยงของผู้ปฏิบัติงาน ตัวอย่างเช่น คุณปฏิบัติงานในแผนกที่มีบุคลากรป่วย (Confirmed Health Worker) หรือสงสัย (PUI)โรคโควิดหรือไม่, คุณปฏิบัติงานที่แผนกที่มีบุคลากรป่วย (Confirmed Health Worker) หรือสงสัย (PUI) โรคโควิดหรือไม่ และมีคำถามเพิ่มเติมที่จะสอบถามอารมณ์ ความรู้สึกของผู้ปฏิบัติงานว่ายังสามารถรับมือกับสถานการณ์ปัจจุบันได้ในระดับใด ตัวอย่างคำถามเช่น ความพร้อมในการทำงานของวันนี้อยู่ในระดับใด ความวิตกกังวลกับสถานการณ์ในตอนนี้เป็นอย่างไร

แบบคัดกรอง COVID-19 มีคำถามทั้งหมด 10 ข้อ

วิเคราะห์ผลคัดกรองเบื้องต้น

หากอุณหภูมิร่างกายสูงกว่า 37.5 องศาเซลเซียสหรือมีไข้ และมีอาการผิดปกติเพิ่มเติมด้วย เช่น เจ็บคอ ไอ ปวดเมื่อยตามตัว หายใจลำบาก การรับกลิ่นผิดปกติ(ลดลง) การรับรสผิดปกติ ซึ่งอาการเหล่านี้ถูกพบในผู้ป่วย COVID-19 ผลวิเคราะห์จะแสดงว่ามีความเสี่ยงสูงเข้าเกณฑ์ PUI (สีแดง)

กลุ่มเฝ้าระวังสามารถแบ่งออกมาได้อีก 3 ระดับ โดยพิจารณาจากอาการผิดปกติอย่างในอย่างหนึ่ง ซึ่งจะแสดงผลเป็นสีเหลือง พร้อมกับคำแนะนำและแนวทางในการปฏิบัติตัวต่างที่แตกต่างกัน ผู้ตอบแบบคัดกรองจะเห็นได้จากส่งคำตอบคัดกรองแล้ว

PUI คือ กลุ่มผู้สงสัยติดเชื้อที่เข้าเกณฑ์สอบสวนโรค หรือ Patients under investigated

ผู้ป่วยติดเชื้อระบบทางเดินหายใจส่วนบน กรณีที่กลุ่ม PUI มีอาการโรคจะเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล แต่ในกรณีที่ตรวจแล้วไม่พบเชื้อ แพทย์จะรักษาตามอาการและกักตัวที่บ้าน 14 วัน ส่วนกลุ่ม PUI ที่ไม่มีอาการหรืออาการเล็กน้อยก็ให้กลับบ้านได้ แต่ต้องแยกกักตัวเพื่อสังเกตุอาการ 14 วัน เมื่อได้รับผลการตรวจจากห้องปฏิบัติการแล้ว ทางโรงพยาบาลจะแจ้งผลให้ทราบ ถ้าตรวจพบเชื้อก็จะรับกลับมารักษาต่อไป

สำหรับทีมคัดกรองของทางโรงพยาบาล

เบื้องหลังของระบบคัดกรองมีหน้า Dashboard ที่รวบรวมข้อมูลการตอบแบบคัดกรองในแต่ละวันของทุกคน (Realtime) ช่วยให้ทีมคัดกรองเข้าถึงข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว แสดงข้อมูลย้อนหลังของบุคลากรคนนั้น และติดต่อสอบถามอาการเพิ่มหากพบอาการผิดปกติ

ตรวจจับผู้ที่มีอาการผิดปกติ

ระบบจะช่วยแยกข้อมูลของผู้ที่มีอุณหภูมิร่างกายสูงกว่า 37.5 องศาเซลเซียสหรือมีอาการผิดปกติ เช่น เจ็บคอ ไอ ปวดเมื่อยตามตัว หายใจลำบาก การรับกลิ่นผิดปกติ(ลดลง) การความสามารถในรับรสลดลง ซึ่งเป็นอาการที่พบในผู้ป่วย COVID-19 ด้วย

ตรวจจับผู้ที่มีอาการผิดปกติโดยอัตโนมัติ

ส่งการแจ้งเตือนไปยัง LINE กลุ่มของทีม

ในทันทีพบกลุ่มเสี่ยง ระบบจะส่งการแจ้งเตือนไปที่ LINE Group อีกช่องทาง ซึ่งจะมีข้อมูลการติดต่อกลับไปหาบุคลากรทันที ในตัวอย่างของโรงพยาบาลจะเป็นกลุ่มของทีมคัดกรองช่วยให้ติดตามเคสสะดวกขึ้น

ตัวอย่างการใช้งานของโรงพยาบาลสระบุรี

ติดตามอาการเฉพาะกลุ่มที่ต้องการ

ทีมคัดกรองสามารถติดตามข้อมูลของบุคลากรที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษได้ด้วยการเพิ่มชื่อเข้า รายชื่อที่ติดตาม จากนั้นระบบจะแสดงของข้อมูลของกลุ่มนี้แยกออกมาเป็นพิเศษ ช่วยให้การติดตามในกรณีที่องค์กรที่มีจำนวนมากทำได้ง่ายขึ้น

เพิ่มรายชื่อของบุคลากรที่ต้องติดตามอาการเป็นพิเศษได้ไม่จำกัดจำนวน

จากตัวอย่างการใช้งานของโรงพยาบาลสระบุรี หัวหน้างานแต่ละแผนกจะเข้ามาสร้างรายชื่อและติดตามอาการเฉพาะบุคลากรในแผนกของตนเอง

อุณหภูมิและอาการย้อนหลัง 30 วัน

โดยเฉลี่ยแล้วผู้ที่ติดเชื้อไวรัสจะแสดงอาการป่วยใน 5–6 วัน อย่างไรก็ตามผู้ป่วยอาจแสดงอาการหลังจากติดเชื้อ 14 วัน ทีมคัดกรองสามารถเปิดดูประวัติย้อนหลังโดยระบบจะแสดงอุณหภูมิร่างกาย อาการผิดปกติ ความพร้อมในการทำงานและความกังวลต่อสถานการณ์ประกอบด้วย

แสดงข้อมูลย้อนหลังพร้อมกับไฮไลต์สีแดงสำหรับอาการผิดปกติ

ดาวน์โหลดรายงานประจำวัน

ทีมคัดกรองสามารถดาวน์โหลดข้อมูลการตอบแบบคัดกรองของบุคลากรได้ทั้งหมด เพียงเลือกวันที่ต้องการและเริ่มทำการดาวน์โหลด โดยระบบจะรวบรวมข้อมูลส่งออกเป็นไฟล์ CSV ซึ่งสามารถเปิดใน Microsoft Excel ได้ตามปกติ

ส่งออกเป็นไฟล์ CSV สามารถเปิดใน Microsoft Excel ได้

ความพร้อมและความกังวลต่อสถานการณ์

ระบบจะแสดงตัวเลขของผู้ตอบแบบคัดกรองเปรียบเทียบกับจำนวนบุคลากรทั้งหมด สรุปความพร้อมในการทำงานและความกังวลต่อสถานการณ์เป็นตัวเลขง่ายๆ โดยคำนวณจากคำตอบของผู้ตอบแบบคัดกรองทั้งหมดในวันนั้น

คำนวณจากคำตอบของผู้ตอบแบบคัดกรองทั้งหมดในวันนั้น

ความผิดปกติด้านอารมณ์ เมื่อไม่รู้ตัวก็ไม่ได้จัดการอย่างถูกต้อง อาจส่งผลกระทบกับประสิทธิภาพในการทำงาน สมาธิไม่ดี ทำงานบกพร่องหรืออารมณ์แปรปรวน ความเครียดสะสมยังอาจนำไปสู่การตัดสินใจผิดพลาดได้

ผลตอบรับที่น่าสนใจ

ระบบคัดกรอง COVID-19 นี้ถูกใช้งานกับโรงพยาบาลสระบุรีเป็นแห่งแรก หลังจากเวลาผ่านไปประมาณ 2 เดือน พบว่ามีการตอบแบบคัดกรองไปแล้วเกือบ 3 หมื่นครั้งอย่างสม่ำเสมอ จากผู้ใช้งานทั้งหมดประมาณ 1,400 คน

สถิติการเข้าใช้งานตั้งแต่เปิดตัวระบบคัดกรอง COVID-19

จากข้อมูลทำให้เราได้เห็นว่าในช่วงเดือนแรก (เส้นประ) ผู้ใช้ต้องใช้เวลาทำความเข้าใจในวิธีการใช้งานก่อน จึงทำให้ระยะเวลาที่อยู่ในระบบสูงกว่า 5 นาที หลังจากนั้นเวลาเฉลี่ยก็ลดลงมาเรื่อยๆ จนมาถึงในเดือนปัจจุบันที่เวลาเฉลี่ยในการทำแบบคัดกรองอยู่ที่ 1 นาทีครึ่งเท่านั้น

เมื่อพบกลุ่มเสี่ยง ระบบจะส่งการแจ้งเตือนเข้า LINE กลุ่มในทันที จากตัวอย่างนี้เป็นของโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ซึ่งทีมคัดกรองใช้การตอบกลับข้อความ แทนการบันทึกว่าติดตามเคสว่าผลเป็นอย่างไร ช่วยทำคนอื่นในทีมติดตามเคสนั้นๆ ต่อได้ในทันที

ตัวอย่างการใช้งานของ โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร

เป็นกำลังใจให้กับบุคลากรทางการแพทย์

ต้องอาศัยความร่วมมือจากบุคลากรทางการแพทย์ทุกคน ยอมเปิดใจรับเทคโนโลยีเข้าไปช่วยในการทำงาน สังเกตุอาการตนเองและตอบแบบคัดกรองเป็นประจำทุกวัน เพื่อให้ทางโรงพยาบาลมีข้อมูลเพียงพอสำหรับรับมือกับสถานการณ์ COVID-19 ต่อไป

สถิติการตอบแบบคัดกรอง COVID-19 ของบุคลาการทางการแพทย์

ผมขอใช้พื้นที่ตรงนี้เป็นกำลังใจให้กับบุคลากรทางการแพทย์สู้ไวรัสโควิด-19 ครั้งนี้ด้วย ส่วนตัวผมเคยทำงานในโรงพยาบาลมาก่อน ทำให้คุ้นเคยขั้นตอนการทำงานของคุณหมอและพยาบาลเป็นอย่างดี ทุกคนเหนื่อย อยากกลับไปหาครอบครัวเช่นกัน

ช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดที่เราจะต้องทำงานร่วมกัน เพื่อแก้ไขปัญหาที่กำลังเกิดขึ้น ใช้เทคโนโลยีช่วยชะลอการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้ทุกคนกลับมาใช้ชีวิตตามปกติให้เร็วที่สุด

ปล. หากท่านใดสนใจเบื้องหลังการพัฒนาระบบและจุดเริ่มต้นของโปรเจคนี้ ผมเขียนบันทึกไว้ที่ บันทึกประสบการณ์ เบื้องหลังการพัฒนาระบบคัดกรอง COVID-19 สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ โรงพยาบาลสระบุรี

อ้างอิง

[1] บุคลากรการแพทย์ติดไวรัส 99 คน กว่าครึ่งติดขณะดูแลผู้ป่วย

[2] จิตแพทย์แนะ จัดการความเครียดรับมือ COVID-19 ไม่ให้ป่วยใจ

[3] prueba — doctores-freepik on Lottiefiles. Free Lottie Animation

--

--

Puwadon Sricharoen

I’m an optimistic person. Love to travel to a new places and enjoy to spending my free time and vacation day to pursue my hobbies.